วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สิ่งที่ได้รับ

สิ่งที่ได้รับ
๑) ด้านความรู้
การใช้คำ กวีใช้คำที่งดงามทั้งรูป ความหมายและเสียงที่ไพเราะ โดยเฉพาะร่ายสดุดีที่มีลักษณะเด่นสะดุดความสนใจ
๑.๑)   เลือกสรรคำที่เหมาะกับเนื้อเรื่อง
๑.๒)  การเลือกสรรคำที่มีเสียงเสนาะ
๑.๓)  ภาพพจน์
๑.๔)  การเปรียบเทียบเกินจริง คือการกล่าวเกินจริง เพื่อให้ได้คุณค่าทางด้านอารมณ์เป็นสำคัญ
๑.๕)  การใช้บุคคลวัต กวีใช้คำสมมุติต่างๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ให้มีกิริยาอาการความรู้สึกเหมือนมนุษย์
๒) ด้านคุณธรรม
๒.๑)  มีความซื่อสัตย์ต่อชาติบ้านเมือง
๒.๒)  มีความกตัญญู
๓) ด้านอารายธรรม
๓.๑)  นิราศนรินทร์คำโคลงมีเนื้อหาสาระที่จรรโลงวัฒนธรรม
๓.๒)  นิราศนรินทร์คำโคลงมีคุณค่าที่สะท้อนให้เห็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยรัชการที่ ๒



บทวิเคราะห์

ด้านกลวิธี การแต่ง

1.การใช้คำ
              กวีใช้คำที่งดงามทั้งรูป ความหมายและเสียงที่ไพเราะ โดยเฉพาะร่ายสดุดีที่มีลักษณะเด่นสะดุดความสนใจมีการเลือกสรรคำที่เหมาะกับเนื้อเรื่อง
1.1 เลือกสรรคำที่เหมาะกับเนื้อเรื่อง

-แย้มฟ้า เป็นคำที่ใช้ง่ายที่มีรูปคำงาม เสียงไพเราะ มีความหมายดี และให้ภาพที่ชัดเจนว่ากรุงรัตนโกสินทร์เผยโฉมเด่นอยู่บนท้องฟ้า

1.2 การเลือกสรรคำที่มีเสียงเสนาะ

-สัมผัส มีการเล่นเรียงสัมผัสทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษรภายในวรรคและระหว่างวรรคเพื่อความไพเราะเช่น

ถึงตระนาวตระหน่ำซ้ำ สงสาร อรเอย
จรศึกโศกมานาน เนิ่นช้า
เดินดงท่งทางละหาน หิมเวศ
สารสั่งทุกหย่อมหญ้า ย่านน้ำลานาง

สัมผัสสระ หน่ำ-ซ้ำ ดง-ท่ง

สัมผัสอักษร สง-สาร เดิน-ดง ท่ง-ทาง สาร-สั่ง หย่อม-หญ้า ตระนาว-ตระหน่ำ

สัมผัสระหว่างวรรค ซ้ำ-สง(สาร) นาน-เนิ่น หาน-หิม(เวศ) หญ้า-ย่าน

-การเล่นคำ มีการใช้คำเดียวกันซ้ำหลายแห่งในบทประพันธ์ แต่คำที่ซ้ำกันนั้นมีความหมายต่างกันเช่น

เห็นจากจากแจกก้าน แกมระกำ
ถนัดระกำกรรมจำ จากช้า
บาปใดที่โททำ แทนเท่า ราแม่
จากแต่คาบนี้หน้า พี่น้องคงถนอม

จาก ซึ่งหมายถึง ต้นจาก และการจากลา



กำ ซึ่งหมายถึง ต้นระกำ ความระกำช้ำใจ และเวรกรรม


ความรู้เพิ่มเติม

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดอรุณราชวราราม หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า วัดอรุณ เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา ว่ากันว่าเดิมเรียกว่า วัดมะกอก และกลายเป็นวัดมะกอกนอกในเวลาต่อมาเพราะได้มีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกัน แต่อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้างใหม่ว่า วัดมะกอกใน (วัดนวลนรดิศ) แล้วจึงเรียกวัดมะกอกซึ่งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ว่า วัดมะกอกนอก

คลองบางกอกน้อย

คลองบางกอกน้อย ตั้งอยู่ในเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้โปรดฯ ให้ขุดคลองลัดแม่น้ำขึ้นจากปากคลองบางกอกน้อยไปยังปากคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งกล่าวกันว่าช่วยย่นระยะทางได้ถึง 1 วันต่อมากระแสน้ำส่วนใหญ่ได้ไหลเข้าสู่คลองลัดทำให้คลองกว้างขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ ส่วนแม่น้ำสายเดิมแคบลงกลายเป็นคลองบางกอกน้อย คลองชักพระ และคลองบางกอกใหญ่แทน

อ่าวไทย

อ่าวไทย เป็นน่านน้ำที่อยู่ในทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก ล้อมรอบด้วยประเทศไทย มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนามอ่าวไทยไม่เพียงแต่มีความสำคัญในทางภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังมีความสำคัญในทางกฎหมายอาญาอย่างยิ่ง โดยถือเป็นอาณาเขตที่ศาลไทยมีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับความผิดที่เกิดขึ้นในอาณาบริเวณอ่าวไทยตามที่กำหนดเขตไว้ในกฎหมายให้ถือเป็นราชอาณาจักรไทยด้วย




คำศัพท์ที่น่าสนใจ

                           ๑. ศรีสิทธิ์พิศาลภพ เลอหล้าลบล่มสวรรค์ จรรโลงโลกกว่ากว้าง แผนแผ่นผ้างเมืองเมรุ ศรีอยุธเยนทร์แย้มฟ้า แจกแสงจ้าเจิดจันทร์ เพียงรพิพรรณผ่องด้าว ขุนหาญห้าวแหนบาท สระทุกข์ราษฎร์รอนเสี้ยน ส่ายเศิกเหลี้ยนล่งหล้า ราญราบหน้าเภริน เข็ญข่าวยินยอบตัว ควบค้อมหัวไหว้ละล้าว ทุกไทน้าวมาลย์น้อม ขอออกอ้อมมาอ่อนผ่อนแผ่นดินให้ผาย ขยายแผ่นฟ้าให้แผ้ว เลี้ยงทแกล้วให้กล้า พระยศไท้เทิดฟ้า เฟื่องฟุ้งทศธรรม ท่านแฮ

พิศาลภพ แผ่นดินอันกว้างใหญ่

เลอหล้า เหนือโลก บนโลก สูงเด่นในโลก

ลบล่มสวรรค์ ลบ = หายไป ล่ม = ทำให้จม เช่น ล่มเรือ หมายความว่า ชนะเมืองสวรรค์

จรรโลงโลก พยุงโลก ค้ำจุนโลก

กว่ากว้าง (กว่า มาก เกิน โบราณใช้ กว้า ก็มี) ให้กว้างขวางมาก

แผ่นผ้าง แผ่นพื้น

เมืองเมรุ เมืองที่ตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ คือ เมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ศรีอยุธเยนทร์ กรุงศรีอยุธยา หมายถึง ประเทศสยาม ก็ได้ แต่ในที่นี้หมายถึง กรุงเทพฯ

แย้มฟ้า เบิกบานในท้องฟ้า รุ่งเรืองในท้องฟ้า

แจกแสงจ้า ส่องแสงจ้า

เจิดจันทร์ (เจิด เชิด เกิน) งามกว่าแสงจันทร์

รพิพรรณ แสงอาทิตย์

ขุนหาญ ขุนพล แม่ทัพ

ห้าว กล้า

แหนบาท เฝ้าพระบาท เฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน

ส่ายเศิก สลัดข้าศึก ปราบข้าศึก

เหลี้ยนล่งหล้า เตียนตลอดโลก

เกริน กลอง

เข็ญข่าวยืน ได้ฟังข่าวอันน่ากลัว

ยอบตัว มอบตัว

ควบ รวมกัน

ละล้าว เกรงกลัว

ไท ผู้เป็นใหญ่ พระเจ้าแผ่นดิน

มาลย์ ดอกไม้ ในที่นี้คือ ดอกไม้เงินดอกไม้ทองเป็นเครื่องบรรณาการ

ขอออก ขอขึ้น ขอเป็นเมืองขึ้น

อ้อมมาอ่อน พยายามมาอ่อนน้อม

แผ่นฟ้า เมืองสวรรค์

ให้แผ้ว ให้แจ่มเจ้ง

เลี้ยงทแกล้วให้กล้า บำรุงทหารให้กล้าแข็ง

พระยศไท้เทิดฟ้า พระเกียรติยศพระองค์ (ไท้) ชูเชิดถึงเมืองสวรรค์ (เทิดเชิด)

                   ทศธรรม ทศพิธราชธรรม หมายถึง ธรรม ๑๐ ประการของพระเจ้าแผ่นดิน ได้แก่ ทาน ศีล บริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน การข่มกิเลส ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน และความไม่ผิดจากธรรม



               ๒.อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา

สิงหาสน์ปรางค์รัตน์บรร เจิดหล้า

บุญเพรงพระหากสรรค์ ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ

บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง

สิงหาสน์ (สิงห+อาสน์) ที่นั่งแห่งผู้มีอำนาจดังราชสีห์ คือ พระที่นั่งเจ้าแผ่นดิน

บรรเจิดหล้า งามในโลก

เพรง เก่า ก่อน

บังอบาย ปิดทางไปสู่ความชั่ว

เบิกฟ้า เปิดทางไปสู่ความดี

ฝึกฟื้นใจเมือง ฟื้นฟูจิตใจชาวเมืองให้พ้นจากความทุกข์




ข้อคิดที่ได้จากนิราศนรินทร์คำโคลง

๑.พระบารมีของพระมหากษัตริย์นั้นเกิดแต่การบำเพ็ญกุศลทั้งในกาลก่อนและกาลปัจจุบัน

๒. ศิลปะการก่อสร้างที่ประณีตงดงาม ย่อมเป็นสิ่งดลใจให้กวีสร้างสรรค์บทประพันธ์ที่ประณีตไปด้วย

๓. ความห่วงใยหวงแหนอันเนื่องมาจากความรักของมนุษย์ เมื่อเกิดขึ้นกับคนที่มีอารมณ์กวี ย่อมจรรโลงใจให้แสดงออกซึ่งงานสร้างสรรค์บทประพันธ์ที่ประณีตไปด้วย

๔. วรรณคดีนิราศ แม้จะแสดงอารมณ์นึกคิดจินตนาการเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ให้ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงบางประการของสังคมไว้ด้วย

๕. คติความเชื่อของอินเดียโบราณ มีอิทธิพลต่อความคิดของคนไทยเป็นอันมาก ความเชื่อ ในเรื่องสวรรค์ คนไทยมีความเชื่อว่าคนที่ทำความดีจะได้ขึ้นสวรรค์ คนทำชั่วจะตกนรก ดังนั้นจึงพยายามสร้างสมแต่สิ่งที่ดีงาม และมักจะเปรียบเทียบว่าถ้าเป็นของดี ของวิเศษ มักจะเปรียบกับของบนสวรรค์ ซึ่งตามความเชื่อของคนไทย สวรรค์แบ่งออกเป็น ๖ ชั้น ดังนี้

๕.๑ จตุมหาราชิก เป็นที่อยู่ของท้าวโลกบาลทั้ง ๔

๕.๒ ดาวดึงส์ เป็นที่สถิตของพระอินทร์

๕.๓ ยามะ อยู่สูงกว่าดวงอาทิตย์ เป็นที่อยู่ของสยามเทวาธิราช

๕.๔ ดุสิต เป็นที่อยู่ของสัมดุสิตเทวราช เป็นที่สถิตของพระโพธิสัตว์

๕.๕ นิมมานรดี เป็นที่อยู่ของเทวดาที่สามารถเนรมิตสิ่งใดก็ได้ตามความต้องการ

๕.๖ ปรนิมมิตวสวัตดี เป็นสวรรค์ชั้นสูงสุด เป็นที่อยู่ของปรนิมมิตวสวัตดีเทพเจ้าและพระยามาราธิราช ผู้เป็นใหญ่แห่งหมู่มาร

เนื้อเรื่องย่อ

                    นิราศนรินทร์คำโคลงเริ่มเรื่องด้วยร่ายสุภาพยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์ แล้วกว่าถึงความเจริญของบ้านเมือง จากนั้นรำพันถึงการจากนางอันเป็นที่รักและพรรณนาสถานที่ที่เดินทางผ่านไปโดยนายนรินทรธิเบศร์ (อิน) ออกเดินทางจากคลองขุด ผ่านวัดแจ้ง คลองบางกอก (ใหญ่) วัดหงส์ วัดสังข์กระจาย บางยี่เรือ (คลอง) ด่านนางทอง บางขุนเทียน บางบอน บางกก หัวกระบือ โคกขาม คลองโคกเต่า มหาชัย ท่าจีน บ้านบ่อ นาขวาง คลองสามสิบสองคด คลองย่านซื่อแม่กลอง ปากน้ำ (ออกทะเล) บ้านแหลม คุ้งคดอ้อย เพชรบุรี ชะอำ ห้วยขมิ้น ท่าข้าม เมืองปราณ (บุรี) สามร้อยยอด ทุ่งโคแดง (ทุ่งวัวแดง) อ่าวนางรม (อ่าวประจวบ) บางสะพาน ขามสาวบ่าว อู่แห้ง เขาหมอนเจ้า โพสลับ ลับยักษ์ เมืองแม่น้ำ อู่สะเภา หนองบัว แก่งตุ่ม แก่งคุลาตีอก แก่งแก้ว (แก่งแก้วสงสาร) แก่งนางครวญ ปาก (ร่วม) น้ำ เขาเพชร จนถึงตระนาว (ตะนาวศรี) เป็นที่หมายปลายทาง


ประวัติผู้แต่ง

                        ประวัติของนายนรินทร์นั้น ไม่เป็นที่ทราบกันแน่นอน แต่เดิมทีนายนรินทร์มีชื่อว่า "นายทองอินทร์" (อิน) ซึ่งได้รับราชการเป็นมหาดเล็ก ฝ่ายพระรับราชวังบวร (วังหน้า) ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้รับพระราชทานยศเป็นหุ้มแพร หรือว่า เป็นที่รู้จักกันในนามบรรดาศักดิ์ในสมัยโบราณ นั้นคือ "นายนรินทรธิเบศร์" (อิน) นายนรินทร์เป็นโอรสกรมขุนอินทรพิทักษ์์ (พระราชโอรสพระเจ้ากรุงธนบุรี) กับ หม่อมเจ้าหญิงโสภา (ธิดากรมหมื่นสุนทรเทพ) เมื่อหม่อมเจ้าหญิงโสภาทรงครรภ์นั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ แต่ตีไม่สำเร็จ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกริ้ว จึงให้หม่อมเจ้าหญิงโสภาไปเป็นภรรยาเจ้าพระยาสวรรคโลก ซึ่งตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อทารกเกิดได้ชื่อทองอินทร์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเมตตาทองอินทร์เสมอ เมื่อทองอินทร์โตขึ้นให้ไปอยู่ด้วยกับเจ้าพระยาสุรสิห์
                      ในภายหลังเราได้ทราบประวัติของท่านจากหนังสือนิราศนรินทร์ ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ โดยทรงเล่าเพิ่มเติมว่า "...นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) ไม่ใคร่จะได้แต่งหนังสือไว้มากนัก และแต่งไว้บ้างก็ล้วนแต่เป็นโคลง ที่ปรากฏว่าเป็นกลอนนั้นน้อยเต็มที โคลงยอพระเกียรติตอนท้ายหนังสือปฐมมาลา ก็เป็นฝีปากของนายนรินทร์ (อิน) จึงสันนิษฐานว่า ...นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) ชอบโคลงมากกว่าคำประพันธ์อื่นๆ"
                     ผลงานการประพันธ์ของนายนรินทรธิเบศร์นั้นไม่ปรากฏแพร่หลาย แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ว่า "..ส่วนที่แต่งไว้ในที่อื่นๆ นั้น ไม่มีที่ใดจะเปรียบกับโคลงนิราศนี้ได้" แต่ทรงมิได้ระบุว่านายนรินทร์ได้แต่งเรื่องอื่นใดไว้นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น